สามแพร่ง คือย่านประวัติศาสตร์มีชีวิตซึ่งผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ความเจริญทั้งทางด้านวัตถุ-สินค้า-บริการ-อาหาร-ความรู้สมัยใหม่ ผลักดันให้สามแพร่งเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ใจกลางพระนครที่เจริญที่สุดของยุคนั้น
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ บริเวณรอบสามแพร่งกลายเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญๆ ย่านนี้จึงมีร้านอาหารอร่อยนานาชนิดไว้บริการข้าราชการทั้งหลาย ส่งผลให้มีความคึกคักและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ที่อยู่โดยรอบเริ่มทยอยย้ายออกไปจากกรุงรัตนโกสินทร์ในภายหลัง ความคึกคักและรายได้ของห้างร้านในย่านสามแพร่งจึงลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การรักษาเสน่ห์ความเป็นร้านอาหารที่สืบทอดความอร่อยแบบเดิม กับความเป็นร้านขายสินค้าและบริการเฉพาะทาง คือเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ร้านเหล่านี้ยังสามารถดำรงอยู่และปรับสมดุลสู่การทำมาหาเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง
ทุกวันนี้สามแพร่งยังคงเป็นแหล่งของกินรสเด็ด ทั้งร้านเก่าที่อยู่คู่ย่านมานานหลายชั่วอายุคนและร้านใหม่ที่เข้ามาเปิดร่วมอยู่ภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเชลล์ชวนชิม เปิบพิสดาร ของหวานกินเล่น และของกินอีกมากมาย ซึ่งอาหารในปัจจุบันหลายจานก็สอดคล้องกับรายการอาหารที่มีขายในย่านนี้เมื่อร้อยปีที่แล้ว
ย่านประวัติศาสตร์มีชีวิตอันรุ่มรวยเสน่ห์แห่งนี้ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็มีร่องรอยประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่นท่ามกลางหมู่สถาปัตยกรรมอายุกว่าร้อยปี ถึงแม้จะมิใช่ของดั้งเดิมทุกสิ่งสรรพ์ แต่ก็รักษาของดั้งเดิมไว้ได้มาก นอกจากนี้ก็ยังมีความริเริ่มใหม่ๆ เข้ามาอยู่ร่วมเป็นเพื่อนบ้านกับชาวแพร่ง อาทิ บางกอกฟอรั่ม โรงแรมเดอะภูธร และพีเพิลสเปซ แกลเลอรี่อีกด้วย ความริเริ่มเหล่านี้สร้างสีสันใหม่ๆ และทำให้มีผู้คนใหม่ๆ เข้ามาเยี่ยมเยือนสามแพร่งมากขึ้น
นักศึกษาสถาปัตย์ ลาดกระบัง ปี ๑ & ปี ๕ ได้รับโอกาสอันอบอุ่นจากชุมชนสามแพร่งให้เข้ามาเยี่ยมเยือน สัมผัสชีวิตผู้คน วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อเรียนรู้สถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตและสภาพแวดล้อมผ่านแบบฝึกหัด “การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรม” “โฟโตโม (การทำแบบจำลองจากภาพถ่าย)” และ “โฟโตเทรซ (การแกะรอยภาพถ่าย)” ซึ่งฝึกการมองเห็นสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตรงหน้า เรียนรู้ แล้วถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาให้ผู้คนเข้าใจได้ ผลงาน “ศิลปะ” ซึ่งแสดงให้เห็นความงามของชีวิตในชุมชนโดยนักศึกษาสถาปัตย์นี้จะนำมาจัดแสดงนิทรรศการในย่านสามแพร่งที่ “พีเพิลสเปซ แกลเลอรี่” ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และหวังว่าอาจจุดประกายให้เกิดมุมมองใหม่ๆ แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการนี้ได้บ้าง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรม (Architectural Delineation)
การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรมคือการเก็บข้อมูลและเรียนรู้ผ่านการเขียน ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการฝึกฝนสายตา สมอง และมือ เพื่อมองให้เห็นสิ่งที่ประทับใจแล้วเก็บด้วยความรู้สึก จดจำให้ได้ เรียนรู้ แล้วถ่ายทอดผ่านการเขียนออกไปให้ผู้คนเข้าใจ อย่างไรก็ดี ข้อมูลหรือผลงานภาพเขียนที่ได้นั้นเป็นเพียงผลผลิต หากสิ่งสำคัญคือกระบวนการที่เกิดขึ้น
การเขียนรูปทำให้ได้อย่างอื่นนอกเหนือจากการเขียนอีกมาก กระบวนการเขียนรูปเป็นการฝึกสมาธิ และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากสมาธิซึ่งจะต้องฝึกก็คือ การมองให้เห็นสิ่งที่จะเขียนก่อน ฝึกให้มองเห็นองค์ประกอบเชิงกราฟิกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแล้วเขียนออกมาเป็นภาพบนกระดาษ และในขณะที่เขียนนั้นก็จะเกิดการเชื่อมต่อของตา-สมอง-มือ เวลาที่เห็นแล้วเขียนออกมา ผู้เขียนก็จะได้สัดส่วนเหล่านั้นเข้าไว้ในตัวเหมือนกับการขีดเส้นความทรงจำเข้าไปในหัว การเขียนรูปจึงเท่ากับเป็นการ “เอาครูเข้าตัว” และเมื่อสมาธิทำงาน ผู้เขียนก็จะรู้สึกดิ่งลึกลงในภาพที่จะเขียน ในเส้นที่เขียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จุดประกายความรู้สึกสร้างสรรค์ การทำงานที่สร้างสรรค์ และได้ความรู้สึกในตอนนั้นว่ามีความสุขด้วย
การพานักศึกษามาเขียนรูปที่สามแพร่ง คือหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าต่างๆ ซึ่งประสบพบอยู่ได้รอบตัว เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเมือง เรื่องชีวิตเมืองกับสถาปัตยกรรม และหวังว่าพวกเขาจะได้สัมผัสในสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัส กินของอร่อยที่ไม่เคยกิน มีประสบการณ์ มีความประทับใจในชีวิต แม้แต่ความประทับใจนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะฉะนั้น สิ่งที่เน้นจริงๆ ในการเขียนรูปคือเริ่มจากการมองให้เห็น มองให้เห็นแล้วก็เขียน เขียนให้ได้ตามหลักการ เขียนให้ได้ตามวิธีการพื้นฐานที่ควรจะเป็น และมีกระบวนการสร้างภาพที่สามารถจะสื่อความหมายได้อย่างที่ผ่านความรู้สึกของตนออกไป หลังจากนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือ “ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง”
การพานักศึกษาออกไปข้างนอกคือตัวอย่างของการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น สัมผัสในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส แล้วก็เขียน
-----------------------------------------------------------------------------------------------
โฟโตโม (Fotomo)
โฟโตโม /โฟ-โต-โหมะ/ คือการทำแบบจำลองด้วยภาพถ่าย โดยนำเอาภาพถ่ายของฉากในโลกความจริงมาตัด จัดวาง และประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพตัดแปะสามมิติ โฟโตโมเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ คิมิโอะ อิโตซากิ (Kimio Itozaki) นักถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นผู้มีมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ว่าด้วยชีวิตและศิลปะ
แม้ว่าการถ่ายภาพจะเป็นสื่อกลางที่บันทึกความจริงอย่างซื่อตรง ถ้าหากผู้ถ่ายภาพมีความซื่อตรงเพียงพอ แต่มันก็ทำในแบบสองมิติเท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่ง แบบจำลองสามมิติโดยทั่วไปก็มักจะขาดความสมจริงและรายละเอียดที่ยิบย่อยลงไปของภาพถ่าย ดังนั้น จากชื่อของมันที่บ่งบอก (Fotomo = Foto + Model) โฟโตโมก็คือเทคนิควิธีอย่างหนึ่งซึ่งควบรวมเอาความสมจริงของการถ่ายภาพกับการมีตัวตนอยู่จริงทางกายภาพของแบบจำลองสามมิติเข้าไว้ด้วยกัน
เวลาที่มองโฟโตโม สิ่งแปลกๆ ก็จะเกิดขึ้นในสมอง ความจริงแบบสามมิติแท้ๆ ของแบบจำลองกับเนื้อที่สามมิติเสมือนจริงของภาพถ่าย จะผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ประสบการณ์สามมิติซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทัศนียภาพในตัวภาพถ่ายจะสื่อถึงความรู้สึกของความลึกภายในเนื้อที่อันจำกัดนั้น และเนื่องจากว่าโฟโตโมเป็นวัตถุสามมิติจริงๆ ซึ่งสามารถจะมองได้จากหลากแง่มุม มันจึงมีความสมจริงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้ผู้มองรู้สึกเหมือนกับว่า “ได้ไปอยู่ที่นั่นจริงๆ”
การทำโฟโตโมมักจะเลือกสิ่งธรรมดาทั่วไปที่ใครๆ ก็เดินผ่านเป็นหัวข้ออยู่เสมอ ดังเช่นฉากท้องถนนและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่พบเห็นกันทั่วไป ตลอดจนวัตถุทั้งหลายในชีวิตประจำวัน และจะไม่เลือกอาคารที่มีชื่อเสียงหรือสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นหัวข้อ เนื่องจากว่าต้องการจะแสดงออกถึงคุณค่าทางสุนทรียะภายในของสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเหตุว่าทำไมการทำโฟโตโมถึงให้ความสนอกสนใจมากกว่าในสิ่งธรรมดาทั่วไป หรือ “ท้องถนน” ซึ่งใครๆ ก็เดินผ่าน และหลายคนอาจมองว่ามันช่างธรรมดาๆ ซึ่งก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “ความโหยหา” ที่คนทั่วไปมักนึกถึง
นักศึกษาสถาปัตย์ ลาดกระบัง ชั้นปีที่ ๕ เริ่มทำแบบฝึกหัดโฟโตโมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยเลือกทำโฟโตโมของย่านไหนก็ได้ตามความสนใจของตน สำหรับการทำโฟโตโมครั้งที่สามในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้เป็นครั้งแรกที่ทดลองทำโฟโตโมในย่านเดียวกันคือสามแพร่ง การนำโฟโตโมมาเป็นแบบฝึกหัดสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๕ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสชีวิตผู้คนและสถาปัตยกรรมในย่านต่างๆ ร่วมกันเป็นทีม ฝึกสังเกตชีวิตประจำวันผ่านภาพรวมและรายละเอียดทั้งหลายที่มีอยู่ตามท้องถนนทั่วไป ฝึกมองให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ต่อหน้าต่อตาซึ่งอาจจะคิดไปเองล่วงหน้าว่าเห็นแล้วหรือรู้แล้ว ฝึกมองให้เห็นความสร้างสรรค์ของผู้คนในชีวิตประจำวัน เก็บข้อมูล เรียนรู้และถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนเข้าใจได้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
โฟโตเทรซ (Fototrace)
โฟโตเทรซ คือการแกะรอยภาพถ่ายที่บันทึกความสนใจหรือความประทับใจของผู้ถ่ายภาพระหว่างการสัมผัสชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในย่านต่างๆ โดยเริ่มจากนำกระดาษไขทาบลงบนภาพถ่ายต้นฉบับที่เลือกมาแล้วติดเทปไม่ให้เลื่อนออกจากกัน จากนั้นจึงใช้ปากกาตัดเส้นสีดำลากไปตามความต่อเนื่องและความแตกต่างของรูปร่าง แสงเงา และลวดลายที่มีอยู่ในภาพถ่ายนั้นทั้งหมด โดยปราศจากการซอยเส้นลงน้ำหนักอ่อนแก่และไม่ถมดำ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้จนถึงที่สุด
การเขียนทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้โดยผ่านการมองเห็น ไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์การเห็นและการสังเกตของตนเอง หรือผ่านการบันทึกด้วยการเขียนจากประสบการณ์ผู้อื่นก็ตาม หลังจากเขียนรูปเสร็จแล้วนักศึกษาจะได้พิจารณากระบวนการตั้งแต่การถ่ายภาพระหว่างการลงพื้นที่จนเขียนรูปเสร็จโดยตลอดว่าเห็นอะไรบ้าง จากนั้นจึงเขียนคำบรรยายประกอบภาพเพื่อเรียนรู้และสร้างสมดุลระหว่างการเขียนรูปกับการเขียนหนังสือให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตลอดจนถ่ายทอดให้ผู้อื่นเห็นตามได้ว่าผู้แกะรอยนั้นเห็นอะไรบ้าง
นี้คือกระบวนการที่พยายามจะส่งเสริมให้นักศึกษาเห็น คิด พูด และทำตรงกัน โดยไม่ขัดแย้งกันเอง “เห็นอะไรคิดอย่างนั้น คิดอะไรพูดอย่างนั้น พูดอะไรทำอย่างนั้น” ซึ่งมีความดีงามอยู่ในตัว สำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ที่ถูกอบรมบ่มเพาะมาให้สนใจในสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลัก และให้ความสนใจกับผู้คนและสรรพชีวิตแต่น้อยแล้ว สายตาที่มองเห็นชีวิตธรรมดาๆ แบบคนทั่วไปนั้นอาจจะพร่าเลือนหรือจางหายไป
โฟโตเทรซจึงพยายามที่จะ “ปลุก” “ฟื้นคืน” หรือ “เปิดมุมมอง” ให้สายตาของนักศึกษาสถาปัตย์ ชั้นปีที่ ๕ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง คืนความมีชีวิตชีวาให้กับสายตาของนักศึกษาสถาปัตย์มองเห็นสิ่งทั้งหลายที่อยู่ต่อหน้าต่อตาของตนเอง เห็นชีวิตที่มีอยู่และดำรงอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานโฟโตเทรซของนักศึกษา ๕ ชิ้น ยังได้รับความเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษในการลงสีโดยศิลปินรับเชิญ ทรงวิทย์ สี่กิติกุล ผู้เขียนหนังสือ “โลกของเรา” และ “ที่นี่มีชีวิต” อีกด้วย
เวลาที่เราเห็นว่าสิ่งใดมีชีวิต มีความรู้สึก เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราเห็นว่าสิ่งใดไม่มีชีวิต เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอีกอย่างหนึ่ง ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมนั้นสถาปนิกไม่ได้สร้างงานศิลปะเพื่อตนเอง หรือศิลปะเพื่อศิลปะ ทว่าออกแบบและสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมเพื่อผู้คนและชีวิต
ด้วยเหตุนี้ สถาปนิกจึงจำเป็นที่จะต้องสัมผัส มองให้เห็นถึงสิ่งที่มีอยู่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะชีวิตที่ดำรงอยู่ในสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมที่สถาปนิกจะออกแบบ เปิดตาเปิดใจให้มองเห็นชีวิต เอาใจใส่ อ่อนไหวและอ่อนโยนต่อชีวิต เห็นคุณค่าและความงามของชีวิตที่มีอยู่ดำรงอยู่ต่อหน้าต่อตาของตน มิเช่นนั้นแล้ว การทำงานของสถาปนิกก็คงจะเปี่ยมไปด้วยความรุนแรงและไม่ต่างจากอาชญากรรมสักเท่าใดนัก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชีวิตงามที่สามแพร่ง
จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2553
งานเปิดนิทรรศการ วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไป
แกลเลอรีเปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ 11 โมงถึง 1 ทุ่ม
ข้อมูลเพิ่มเติม โทร 082-7855594
Email: people.space@yahoo.com หรือ peoplespace.bangkok@gmail.com
p.s. ติดตามกิจกรรมอันหลากหลายเร็วๆ นี้