Thursday, September 17, 2009

สายลมพลิ้วผ่านต้นจำปา ในดวงตาของชัยพงษ์ กิตตินราดร

นี่เป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมรู้สึกใจหาย ใจหายเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างหายไปจากชีวิต ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ทราบข่าวว่า คุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิต

ผมแวะเข้าไปจัดการงานเล็กน้อยที่บ้านสีฟ้า สำนักงานของ openbooks ในช่วงบ่าย ตกเย็นชวน วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ให้ขึ้นรถมากินข้าวด้วยกันที่ PS Gallery แพร่งภูธร เพราะมีนัดกับนักเขียนรุ่นใหม่หลายคนที่มีผลงานอยู่ใน www.onopen.com รถติดเล็กน้อยตอนที่เรากำลังจะออกเดินทาง เราเปรยถึงคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร ช่างภาพขาว-ดำ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

คุณชัยพงษ์ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาการของโรคลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนคุณชัยพงษ์ทรุดหนัก ผมแวะไปเยี่ยมคุณชัยพงษ์เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน แม้อาการภายนอกจะบ่งบอกถึงการเสื่อมโทรมลงไปของสังขาร แต่จากสภาวะจิตภายใน คุณชัยพงษ์ยังคงเข้มแข็งและพูดจาตอบโต้กับพวกเรา อันหมายรวมถึงเต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และคุณปุ๋ยแห่ง bwfoto.net ได้เป็นอย่างดี

เราคุยกันถึงการนำเอางานภาพถ่ายขาว-ดำ ในส่วนที่ยังไม่เคยมีการจัดแสดงของคุณชัยพงษ์ มารวมเล่มตีพิมพ์ คุณปุ๋ยและเต้กรุณารวบรวมต้นฉบับทั้งหมดมาให้คุณชัยพงษ์ได้เลือกคัด คุณชัยพงษ์เองก็ยังมีสติดีพอที่จะคัดส่วนที่คิดว่าไม่เป็นเอกภาพออกไป และฝากฝังให้ผมช่วยเขียนคำนำในหนังสือให้ด้วย

“เขียนอะไรก็ได้ ตามใจคุณภิญโญ จะเขียนถึงเรื่องความป่วยไข้ หรือความตายของผมก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจ ใช้ผมเป็นกรณีศึกษาได้” คุณชัยพงษ์บอกผมด้วยน้ำเสียงอิดโรย ด้วยช่วงนั้นระบบการทำงานของตับและไตค่อนข้างจะมีปัญหาหนัก ขาคุณชัยพงษ์จึงบวม ร่างกายซีดเหลืองและซูบลงไปจากเดิมเป็นอันมาก
“พี่จะรีบไปไหน หนังสือยังไม่เสร็จห้ามตายนะพี่ ผมในฐานะบรรณาธิการยังไม่อนุญาตให้พี่ตาย” ผมแกล้งหยอกเย้ากับคุณชัยพงษ์แรงๆ ซึ่งก็ช่วยทำให้คุณชัยพงษ์หัวเราะออกมาได้เบาๆ ผมจึงกระเซ้าต่อว่า
“อยู่ช่วยขายหนังสือให้ผมก่อนนะพี่”
คุณชัยพงษ์ไม่ได้รับปาก เพียงแต่บอกว่า
“ผมอ่อนแรงเต็มที อาการตอนนี้อยู่ในขั้นตรีทูตแล้ว”
“พี่ต้องมาเปิดงานแสดงภาพถ่ายให้ผมก่อน ถ้าเดินไม่ไหวจะให้โฟนอินมาเหมือนคุณทักษิณ”
คุณชัยพงษ์ซึ่งเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัวยงหัวเราะเบาๆ กับตลกร้ายของผม

ทั้งหมดนี้ คือบทสนทนาครั้งสุดท้ายระหว่างคุณชัยพงษ์กับผม เพราะบ่ายวันนี้ ในเวลาใกล้เคียงกับที่เราออกเดินทางจากสำนักงานมาที่แกลเลอรี่และกำลังคุยถึงพี่ชัยพงษ์ พี่ชัยพงษ์ก็สิ้นลมอย่างสงบ


กว่าผมจะทราบข่าวก็ช่วงค่ำ เมื่อเต้โทรศัพท์มาแจ้ง ผมรู้สึกใจหายเหมือนดังที่เล่าไว้ในเบื้องต้น ผมหยิบหนังสือ Mind’s Eye ที่วางอยู่ในแกลเลอรี่มาให้ทุกคนดู บางคนที่ยังไม่เคยเห็นภาพของคุณชัยพงษ์มาก่อน เอ่ยปากชมว่าภาพสวยมาก

ผมเพิ่งนึกได้ว่าหยิบหนังสือเล่มนี้ห่อใหญ่ฝากวรพจน์ช่วยถือขึ้นรถมาเมื่อตอนบ่ายนี้เอง หนังสือ Mind’s Eye ที่แกลเลอรี่เหลือน้อย แต่ผมก็ยังไม่เคยหยิบมาเติมเสียที จนกระทั่งวันนี้ ทั้งๆ ที่มีหนังสืออื่นเต็มกระเป๋า แต่ผมก็ตั้งใจว่า จะหยิบหนังสือของพี่ชัยพงษ์มาที่แกลเลอรี่

หรือพี่ชัยพงษ์จะส่งข่าวบางอย่างมาถึงผม ถึงตอนนี้ ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะคิดเช่นนั้น

ผมรู้จักพี่ชัยพงษ์ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่คิดว่าจะพิมพ์รวมเล่มหนังสือ พุทธบูรณา (พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์) ของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ผมถามเต้-ธวัชชัย ว่ารู้จักช่างภาพขาว-ดำฝีมือดีที่สนใจงานทางด้านศาสนาบ้างไหม ไม่กี่วันต่อมาเต้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่ชัยพงษ์

วันนั้น พี่ชัยพงษ์ขับรถมาเยี่ยมบ้านสีฟ้า พร้อมภาพถ่ายกล่องใหญ่ ผมดูภาพแล้วก็ตัดสินใจโดยไม่ต้องลังเลเลยว่า งานนี้คงต้องอาศัยประสบการณ์และสายสัมพันธ์ของพี่ชัยพงษ์เป็นแน่แท้ เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นการเรียบเรียงชีวประวัติท่านอาจารย์พุทธทาสขึ้นมาใหม่ในรูปแบบกึ่งนวนิยาย ภาพถ่ายทั้งหลาย จึงมิใช่ภาพประกอบตรงไปตรง หากแต่ต้องอาศัยการตีความของช่างภาพ ซึ่งช่างภาพที่จะถ่ายงานในลักษณะนี้ได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคยผ่านสวนโมกข์มาแล้ว ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ให้พอดีที่พี่ชัยพงษ์เป็นช่างภาพผู้นั้น

ผู้ซึ่งสนใจทั้งภาพ สนใจทั้งธรรม และมีความดื่มด่ำกับสวนโมกข์

พี่ชัยพงษ์หายตัวไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะต้องเดินทางลงใต้ ครั้นถึงกำหนดนัดหมาย พี่ชัยพงษ์กลับมาพร้อมภาพถ่ายขาว-ดำกล่องใหญ่ และนั่นได้กลายเป็นภาพประกอบที่สวยงามในหนังสือ พุทธบูรณา ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเป็นอย่างยิ่ง ภาพบางภาพ เช่นห้องนอนของท่านอาจารย์พุทธทาส ห้องหนังสือ ถ้าไม่ได้รู้จักกับพระคุณเจ้าทั้งหลายที่ดูแลสวนโมกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็คงเป็นการยากเต็มทีที่จะได้เข้าไปถ่าย บางภาพคุณชัยพงษ์ต้องยอมตื่นแต่เช้ามืด เพื่อเก็บภาพพระในสวนโมกข์ตื่นขึ้นมาเดิมจงกลม ผมเองไม่ใช่ช่างภาพ แต่ก็เข้าใจว่า โดยทางเทคนิคแล้วคงยากเอาการอยู่ เพราะในยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเช่นนั้น ไหนเลยจะมีแสงธรรมชาติให้ถ่ายภาพได้ ลำพังแสงจากหลอดไฟไม่กี่แรงเทียน แค่มือสั่นนิดเดียว ภาพก็ไหวเสียแล้ว แต่พี่ชัยพงษ์ก็สามารถถ่ายภาพดังกล่าวออกมาได้อย่างน่าดูชม

นี่คือสปิริตที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพถ่ายของพี่ชัยพงษ์

หนังสือพุทธบูรณาทำให้พี่ชัยพงษ์มีโอกาสได้ขึ้นเวทีเดียวกับอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ที่ห้องประชุมใหม่เอี่ยมบนตึกโดม ท่าพระจันทร์ แม้จะไม่เคยเอ่ยปากบอกกันตรงๆ แต่ผมเชื่อว่า ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ พี่ชัยพงษ์น่าจะมีความภูมิใจอยู่ไม่น้อย ที่ได้กลับมารับใช้สถาบันเก่าของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่วมกับนักคิดชั้นนำที่ตนเองนับถือ

รายการเสวนาวันนั้นสนุกครับ อาจารย์เสกสรรอยู่ในภาวะถอดหมวกออกเสียแล้ว วงสนทนาจึงไม่เครียด หากเต็มไปด้วยความลุ่มลึกและอารมณ์ขัน ผมเองได้ร่วมทำหน้าที่ซักถามอยู่บนเวทีวันนั้น ได้เห็นสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสของทุกคนแล้ว บอกได้คำเดียวว่าสุขใจ

จากการได้ร่วมงานกันในครั้งนั้น พี่ชัยพงษ์กับผมก็คบหากันเรื่อยมา ทั้งในฐานะพี่น้องและเพื่อนร่วมงาน(ต่างวัย) เมื่อเราริเริ่มจะเปิดแกลเลอรี่ที่แพร่งภูธร พี่ชัยพงษ์จึงกลายเป็นช่างภาพคนแรกที่ได้รับเชิญให้มาแสดงงาน ด้วยความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย

กิจการแกลเลอรี่ขนาดเล็กของพวกเราในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างขรุขระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณ และก็เป็นพี่ชัยพงษ์นี่เองที่คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือ ถึงขนาดที่ว่า ขนทั้งเครื่องปรับอากาศและช่างมาติดตั้งแอร์ตัวใหญ่ให้ถึงที่ หลังจากพบว่าแกลเลอรี่แห่งนี้ช่างร้อนเหลือเกิน

น้ำใจจากพี่ชัยพงษ์ทำให้ชั้นสองเปลี่ยนจากห้องซาวน่ากลายมาเป็นห้องที่เย็นฉ่ำ เป็นสถานที่ที่เราสามารถใช้จัดกิจกรรม ทั้งเสวนา เล่นดนตรี ฉายภาพยนตร์ มาได้ด้วยดี โดยที่ผู้ฟังอาจไม่เคยรู้เลยว่า อากาศที่เย็นสบายนั้น มีชายชื่อ ชัยพงษ์ กิตตินราดร อยู่เบื้องหลัง

และก็ด้วยงานแสดงนี้เอง ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกับพี่ชัยพงษ์อีกครั้ง ในโครงการหนังสือ Mind’s Eye ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ภาพถ่ายขาว-ดำลงสีด้วยมือเป็นเล่ม (ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ของประเทศไทย) งานนี้เป็นงานใหญ่ ใช้เวลามาก ใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง พี่ชัยพงษ์และผม จึงต้องพบกันบ่อยๆ ในช่วงสองสามเดือนที่เราจัดเตรียมต้นฉบับหนังสือเล่มนี้


คนที่รู้จักพี่ชัยพงษ์ดี คงจะรู้ว่าพี่ชัยพงษ์เป็นคนละเอียด การทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนละเอียดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พี่ชัยพงษ์ก็ยอมอะลุ้มอล่วยกับข้อจำกัดของธุรกิจและเทคโนโลยี จนทำให้เราผ่านงานนี้มาได้ด้วยความสบายใจกันทุกฝ่าย




เมื่อแล้วเสร็จ หนังสือ Mind’s Eye ได้รับคำชมและเสียงตอบรับที่ดีมากในวงการและในวงกว้าง
หนังสือเล่มนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่สวยที่สุดที่สำนักพิมพ์ openbooks เคยตีพิมพ์มา
เป็นหนังสือที่เมื่อสำเร็จออกมาแล้ว ก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า สร้างความภูมิใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

และนี่เองที่ทำให้ผมได้สัมภาษณ์พี่ชัยพงษ์เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร Image อีกครั้ง
เป็นสัมภาษณ์ใหญ่ความยาวสิบกว่าหน้า ลงทั้งภาพเหมือนพี่ชัยพงษ์ และภาพที่พี่ชัยพงษ์ได้เคยถ่ายเอาไว้
ไม่ง่ายนะครับ ที่คนธรรมดาไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงสังคม จะได้พื้นที่สัมภาษณ์ใหญ่ในนิตยสารผู้หญิงกระแสหลักเช่นนี้ แต่พี่ชัยพงษ์ก็สามารถสร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้ จากสิ่งที่ตัวเองรัก นั่นก็คือการถ่ายภาพ

งานแสดงภาพถ่ายของพี่ชัยพงษ์ผ่านไปได้ด้วยดี ญาติมิตรและลูกศิษย์มากันล้นหลาม จนต้องมีการฉายสไลด์ประกอบดนตรีกันถึงสองสามรอบกว่าทุกคนจะได้ชมกันครบ เราขายหนังสือไปได้เกือบร้อยเล่มในงานเดียว

นี่ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะครับ เพราะหนังสือเล่มนี้มีราคาสูงถึง 1,200 บาท ต่อให้ลดแล้วเหลือ 700 บาท แต่ถ้าไม่สนใจจริงหรือไม่รักกันจริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนยอมควักเงินเพื่อซื้อหนังสือภาพถ่ายหนึ่งเล่มในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

แต่พี่ชัยพงษ์ก็ทำได้ เพราะคนที่มางานนี้ ถ้าไม่เคารพในฝีมือ ก็ล้วนแล้วแต่รักในตัวพี่ชัยพงษ์ทั้งสิ้น
ผมเองจัดอยู่ในทั้งสองประเภท คือ ทั้งเคารพและรัก

ในฐานะคนทำงาน ผมเคารพในความมุ่งมั่น หมั่นแสวงหาความรู้ และกล้าลองผิดลองถูก โดยไม่ยึดติดตำราหรือทฤษฎีด้านการถ่ายภาพ จนก่อให้เกิดเป็นแนวทางของตนเองที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านการศึกษาด้านจากสถาบันใดๆ มาก่อน นี่คือแบบอย่างของการทำงานที่ดี ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่ที่งานถ่ายภาพเท่านั้น
หากแต่ยังหมายรวมถึงงานศิลปะทุกแขนง

ในฐานะมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เกิดมามีฐานะการเงินพอที่จะเริ่มต้นอาชีพการงานได้อย่างสะดวกสบาย ผมจึงอดไม่ได้ที่จะรักในความเป็นคนสู้ชีวิต ความมีน้ำอดน้ำทน จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายในวัยเยาว์ และสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง มีทั้งภรรยาที่เป็นกัลยาณมิตร และมีลูกซึ่งเป็นอภิชาตบุตรทั้งสองคน ของพี่ชัยพงษ์

ในบั้นปลายชีวิตพี่ชัยพงษ์จึงสมบูรณ์ เพราะได้พบเจอ ได้กระทำ และได้ละวาง อย่างครบถ้วน
ซึ่งพี่ชัยพงษ์เองก็ตระหนักดีถึงความจริงข้อนี้ พี่ชัยพงษ์จึงมักเปรยให้คนใกล้ชิดฟังบ่อยๆ ว่า
“ตอนนี้ ผมไม่ต้องมีห่วงด้านเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว”
แม้ในการพบกันครั้งสุดท้าย พี่ชัยพงษ์ก็ยังเอ่ยถึงความข้อนี้



ลึกๆ แล้วพี่ชัยพงษ์เป็นซ้ายนะครับ ซ้ายในความหมายง่ายๆ ว่า เห็นใจคนส่วนใหญ่และไม่ได้สรรเสริญความมั่งคั่ง กระทั่งไม่ได้อยากจะสะสมสมบัติไว้ให้ลุกหลานล้างผลาญไปสามชั่วคน สงครามของพี่ชัยพงษ์จึงไม่ใช่สงครามทางธุรกิจเหมือนคนทั่วไป หากแต่เป็นสงครามที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของระบบทุนนิยม ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในบั้นปลาย พี่ชัยพงษ์สามารถทำได้ และประสบชัยชนะในสงครามที่คนส่วนใหญ่ของโลกต้องพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่พี่ชัยพงษ์จะบอกว่า
“ผมหมดห่วงแล้ว” เมื่อตอนพบกันครั้งหลังสุด

ผมเองก็เชื่อว่าพี่ชัยพงษ์หมดห่วงแล้วจริงๆ พี่ชัยพงษ์จึงต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเข้มแข็ง และจากไปอย่างมีสติ ซึ่งก็ทำให้ผมเชื่อว่า พี่ชัยพงษ์น่าจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี หรือที่คนไทยเราเรียกว่า ได้ไปที่ชอบๆ

ที่ชอบๆ ของพี่ชัยพงษ์จะเป็นเช่นไรนั้น ผมเองหมดปัญญาจะคาดเดา ผมได้แต่คิดถึงภาพถ่ายเด็กน้อยสี่ห้าคนที่วิ่งเล่นใต้ต้นจำปา ซึ่งพี่ชัยพงษ์ถ่ายไว้ได้ที่จำปาศักดิ์




ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงามทั้งด้านองค์ประกอบ และมีชีวิตชีวาตามอย่างภาพที่ดีควรจะมี เด็กทุกคนยิ้มแย้ม ไม่มีความทุกข์โศกในดวงหน้า สีที่พี่ชัยพงษ์ระบายลงในรูปอย่างบางเบา ก็ยิ่งช่วยทำให้ภาพนี้งดงามจับใจขึ้น

ผมมองภาพนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า สวรรค์ของพี่ชัยพงษ์ ซึ่งเป็นช่างภาพชั้นเยี่ยม ก็คงอยู่ไม่ไกลจากจำปาต้นนั้น และถ้าท่านลองพิจารณาภาพนั้นให้ดี ลองมองเข้าไปภายในด้วยดวงใจของท่านแล้ว
ท่านก็อาจเห็นช่างภาพคนหนึ่งกำลังยืนนิ่งเล็งกล้องไปที่เด็กกลุ่มนั้นอย่างสงบ
นั่นล่ะครับ พี่ชัยพงษ์ที่ผมรู้จัก รัก และเคารพ

ด้วยความระลึกถึง
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
16 กันยายน 2552

1 comments:

Γ.Ι.Δ.Α. said...

αν και λιγο κουραστικό το καταλαβα ολο !!!