Wednesday, December 22, 2010

In Memory ... อาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร






... เมื่อราวครึ่งศตวรรษมาแล้ว จำได้ว่า วันหนึ่งได้ไปนั่งรอผู้ใหญ่ทำธุระอยู่ที่สถานที่แห่งหนึ่ง ไม่ทราบ

ชื่อของสถานที่นั้น และจำไม่ได้ว่าไปอย่างไรมาอย่างไร จำได้แต่เพียงภาพรางๆ ของสถานที่กว้างขวาง

แห่งหนึ่งมีต้นไม้ร่มรื่น มีอาคารเรียงต่อเนื่องกันเป็นแนวตรงบ้างขวางบ้าง ข้างล่างด้านหน้าของอาคาร

เหล่านั้นมีประตูบานเฟี้ยมเปิดปิด ส่วนข้างบนเป็นหน้าต่างอยู่ใต้กันสาดติดไม้ฉลุโดยรอบอย่างสวยงาม

ขณะที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้นและมองเห็นภาพอาคารสีเนื้อจางๆ อยู่เบื้องหน้า ในใจมีความรู้สึกเย็นฉ่ำ

ชุมชื่นอย่างไรบรรยายไม่ถูก คล้ายๆ กับมีความรู้สึกว่าสถานที่นั้นยินดีต้อนรับและมีความเป็นมิตรต่อ

คนแปลกหน้าอย่างยิ่ง

แล้วเวลาก็ผ่านไปหลายทศวรรษโดยที่มิได้กลับไปยังสถานที่แห่งนั้นอีกเลย นึกถึงภาพและบรรยากาศใน

วันนั้นคราวใด ก็ไม่ทราบว่าสถานที่นั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน จะให้สอบถามใครก็สูญหายตายจากไปเสียแล้ว

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเช้าตรู่ของวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2545 ขณะที่ตั้งใจจะเดินชมกรุงเทพฯคนเดียว ในวันที่การ

จราจรโล่งว่าง ก็ได้เดินไปปะทะกับสถานที่นั้นโดยไม่รู้ตัว คราวนี้อาคารที่เคยจำคลับคล้ายคลับคลาได้ว่า

เป็นอาคารสีเนื้อสลับสีไม้ธรรมชาติได้กลายเป็นสีเหลืองไข่ไก่และเขียวอ่อนเขียวแก่ผสมผสานกันเสียแล้ว

แต่บรรยากาศเก่าๆ ยังคงอยู่อย่างเดิม คือ ร่มรื่น ชื่นฉ่ำ และเป็นมิตร

วันนั้นเพิ่งบรรลุถึงสัจจะว่า สถานที่แห่งนั้นคือ 'แพร่งภูธร' นั่นเอง หลังจากนั้นไม่กี่วัน โครงเรื่องและตัวละคร

เรื่อง 'อยู่เย็น...เป็นสุข' ก็วิ่งแข่งกันมายืนอออยู่ตรงหน้าขอให้เขียนถึง

นี่คือที่มาของนวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินไประหว่างที่ผู้เขียนกำลังมีความสนใจและตั้งใจที่จะมี

ส่วนแม้แต่เพียงน้อยนิด ที่อยากจะสื่อสารให้ชาวกรุงเทพฯ (รวมทั้งชาวไทยทั้งประเทศ) ไม่ว่าจะอาศัยอยู่

ณ แห่งหนตำบลใด ให้ได้มาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนของตน ให้ได้รู้จักชาวถิ่นใน

อดีตและปัจจุบัน และได้ช่วยกันอนุรักษ์สถานที่และสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น หากผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุก

แห่งในกรุงเทพฯ รู้จักดูแลรักษาชุมชนของตนเองเช่นนี้แล้ว กรุงเทพฯก็จะสวยงามยั่งยืนตลอดไป โดยไม่

ต้องออกแรงมากมายเลย

และหากว่าทางการบ้านเมืองต้องการให้ความช่วยเหลือในการอนุรักษ์แก่ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ ก็ขอให้เน้นย้ำ

การอนุรักษ์ที่รักษาสภาพเดิม มิใช่อาศัยเพียงแค่สถานที่เดิม แต่เปลี่ยนแปลงสิ่งก่อสร้างและประโยชน์ใช้

สอยเสียใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว วันหนึ่งกรุงเทพฯจะกลายเป็นมหานครที่ปราศจากรากอย่างน่าเสียดาย

ประวัติและความเป็นมาอันยาวนาน และจะตัดตอนความต่อเนื่องของชาวกรุงเทพฯรุ่นเก่ารุ่นใหม่ออกจากกัน

อย่างแลไม่เห็นหน้าหลังของกันและกันเลย ...

คำนำจากหนังสือ 'อยู่เย็น...เป็นสุข' โดย ดวงใจ (ประทุมพร วัชรเสถียร)

----------------------------------------------------------------------------------------

ที่ตั้งของแกลเลอรี่พีเพิล สเปซในปัจจุบัน แท้จริงแล้วคือบ้านของคุณประภัสสรและคุณชุติมา เสวิกุล

ด้วยความอนุเคราะห์จากทั้งสอง ทำให้อาคารโบราณย่านแพร่งภูธรกลายเป็นพื้นที่เล็กๆ สำหรับแสดงภาพ

และจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาหลายปี พยายามทำหน้าที่เชื่อมโยงอดีตสู่คนรุ่นใหม่เท่าที่โอกาสจะอำนวย

อย่างน้อยๆ กิจกรรมที่เราทำก็อาจช่วยพาใครหลายคนเข้ามาเยี่ยมเยือนย่านเก่าแก่ที่น่ารักแห่งนี้

กระนั้น สิ่งที่ PS ทำคงเทียบไม่ได้กับความรักที่ อาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร มีต่อย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะแพร่งภูธรแห่งนี้ ครั้งแรกที่อาจารย์ได้มาที่ย่านนี้ มีแต่ความรู้สึกและความประทับใจติดตัวกลับไป

แต่เมื่อมีโอกาสอีกครั้ง แพร่งภูธรได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งนวนิยายเรื่อง 'อยู่เย็น...เป็นสุข'

โดยอาคารที่ PS ตั้งอยู่นั้นเป็นหนึ่งในอาคารที่อาจารย์มีโอกาสได้เดินสำรวจอย่างทะลุปรุโปร่ง

อาจารย์ประทุมพรมาเยี่ยมเยียน PS สองครั้ง ครั้งแรกในกิจกรรมของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และครั้งที่สอง

ในงานเปิดนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง" ซึ่งอาจารย์ใจดีมาเล่าเรื่องเมืองเก่าให้เราฟังทั้งที่สุขภาพ

ยังไม่แข็งแรงนัก

ทุกครั้งเราจะได้เห็นดวงตาที่มีประกายแห่งความสุขเมื่อท่านพูดคุยถึงย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ

ถึงวันนี้แม้อาจารย์จะจากไปแล้ว แต่ประกายแห่งความสุขในดวงตานั้นจะอยู่ในใจเราตลอดไป

Thursday, July 22, 2010

Bangkok Story + Conservation in Japan(-ese style)

ภาพบรรยากาศ กิจกรรมเสวนา “บางกอกสะตอรี่ส์ : มุมมองกรุงเทพฯ จากนักเขียนการ์ตูน 7 คน สนุกสนาน หวาน เศร้า เสียดสี สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ” นำเสวนา โดย ศศิ วีระเศรษฐกุล, องอาจ ชัยชาญชีพ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล, ต้องการ, THE DUANG และ SUMMER









ภาพบรรยากาศ กิจกรรมเสวนา อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น “ตะวันตกที่สุดในตะวันออก" นำเสวนา โดย อ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ




สำหรับผู้ที่สนใจแง่มุมการอนุรักษ์เมืองเก่าของญี่ปุ่น ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://issuu.com/peoplespacebangkok/docs/conservation_in_japan_-ese_style_?mode=embed&layout=http%3A%2F%2Fskin.issuu.com%2Fv%2Flight%2Flayout.xml&showFlipBtn=true














Sunday, July 04, 2010

กิจกรรมพิเศษตลอดเดือนในงานนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง"



วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฏาคม 2553 : ของกินสามแพร่ง


17:00-18:00 น. กิจกรรมเสวนา “ของกินสามแพร่ง” ณ ลานภูธเรศ แพร่งภูธร
นำเสวนา โดย กลุ่มเยาวชนแพร่งภูธร

18:00-18:20 น. ฉายภาพยนตร์สารคดี “เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่า” ณ ลานภูธเรศ แพร่งภูธร

18:30-20:30 น. ฉายภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่อง “อุด้ง (UDON)” ณ ลานภูธเรศ แพร่งภูธร

“หนังในดวงใจของใครหลายคนซึ่งรวมสารพัดอารมณ์ความรู้สึกผ่านความผูกพันกับความอร่อยของเส้นที่เหนียว หนาและนุ่มของอุด้ง ในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น พระเอก นางเอก และคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างปาฏิหาริย์ “อุด้งบูม” ทำให้เมืองเล็ก ๆ ที่ทำท่าจะร้างนี้เกิดคึกคักและเป็นจุดหมายปลายทางความอร่อยของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ”


วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฏาคม 2553 : บางกอกสะตอรี่ส์ & อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น


13:00-15:00 น. กิจกรรมเสวนา “บางกอกสะตอรี่ส์ : มุมมองกรุงเทพฯ จากนักเขียนการ์ตูน 7 คน
สนุกสนาน หวาน เศร้า เสียดสี สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ” ณ People Space ชั้นบน
นำเสวนา โดย ศศิ วีระเศรษฐกุล, องอาจ ชัยชาญชีพ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล, ต้องการ, THE DUANG และ SUMMER

15:00-17:00 น. กิจกรรมเสวนา อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น “ตะวันตกที่สุดในตะวันออก"
ณ People Space ชั้นบน นำเสวนา โดย อ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ และ ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์


วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฏาคม 2553 : เบื้องหลังสารคดีเมล็ดพันธุ์ไท

14:00-14:30 น. ฉายสารคดี เมล็ดพันธุ์ไท ตอน สามแพร่ง ณ People Space ชั้นบน

14:30-16:30 น. กิจกรรมเสวนา “เบื้องหลังสารคดีเมล็ดพันธุ์ไท” ณ People Space ชั้นบน
นำเสวนา โดย คุณนิสา คงศรี และทีมงานพิกโอนาย

16:30-17:00 น. ฉายสารคดี เมล็ดพันธุ์ไท ตอน ทรายกองดิน ณ People Space ชั้นบน


วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2553 : การท่องเที่ยวภาคประชาชน

14:00-16:00 น. กิจกรรมเสวนา “การท่องเที่ยวภาคประชาชน : เข้าใจนิเวศวัฒนธรรม เข้าใจท้องถิ่น เข้าใจคน และเข้าใจชีวิต” ณ People Space ชั้นบน นำเสวนา โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม

Monday, June 28, 2010

งานเปิดนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง"


งานเปิดนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง" ผ่านไปอย่างอบอุ่น ขอบคุณชาวชุมชนแพร่งภูธรที่ทำให้ทุกคนได้อุ่นท้องพร้อมกับอิ่มใจ และทำให้รู้ว่าวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เรียบง่ายงดงามยังคงมีอยู่จริง :)





















งานจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม อย่าลืมหาเวลามาชมกันนะคะ
ป.ล. เราเปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่ 11 โมงถึง 1 ทุ่ม


Monday, June 21, 2010

Installation

ในวันอาทิตย์ที่แสนร้อนระอุ นักเรียนสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง เกือบ 30 ชีวิต รวมพลกันที่ PS เพื่อติดตั้งผลงานนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง" ภายใต้การดูแลของ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร





เวลาทั้งวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว กว่าการติดตั้งจะเสร็จเรียบร้อยก็ล่วงไปถึงช่วงหัวค่ำ







ผลงานกว่า 200 ชิ้นถูกจัดแสดงในพื้นที่ขนาดกะทัดรัด จน PS ดูเล็กไปถนัดตา แต่การได้เดินละเลียดชมผลงานแต่ละชิ้น - อย่างช้าๆ - ดูราวกับว่าเรากำลังกลับไปสู่คืนวันเก่าๆ ของกรุงเทพฯ วันที่ชีวิตแบบเรียบง่ายยังมีให้เห็นได้ทั่วไป





แต่พูดไปคงไม่เหมือนมาเห็นเอง PS เลยอยากชวนทุกท่านร่วมหวนคืนสู่วันวานผ่านภาพของปัจจุบัน ในวันเปิดนิทรรศการ "ชีวิตงามที่สามแพร่ง" อาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2553 ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป มาถึงไวอาจแวะฝากท้องกับร้านในชุมชนแถวนี้ ที่พากันบ่นว่าบรรยากาศช่างเงียบเหงาเหลือเกิน


มาร่วมอุดหนุนชุมชน พร้อมชมงานศิลปะ

นั่งล้อมวงฟัง อาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร เล่าเรื่องเมืองเก่า

เปลี่ยนวันอาทิตย์เฉาๆ ให้เพลิดเพลินใจกันดีกว่า




For more information, please call 082-7855594 or email people.space@yahoo.com







Tuesday, March 16, 2010

ชึวิตงามที่สามแพร่ง



สามแพร่ง คือย่านประวัติศาสตร์มีชีวิตซึ่งผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ความเจริญทั้งทางด้านวัตถุ-สินค้า-บริการ-อาหาร-ความรู้สมัยใหม่ ผลักดันให้สามแพร่งเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ใจกลางพระนครที่เจริญที่สุดของยุคนั้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ บริเวณรอบสามแพร่งกลายเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญๆ ย่านนี้จึงมีร้านอาหารอร่อยนานาชนิดไว้บริการข้าราชการทั้งหลาย ส่งผลให้มีความคึกคักและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ที่อยู่โดยรอบเริ่มทยอยย้ายออกไปจากกรุงรัตนโกสินทร์ในภายหลัง ความคึกคักและรายได้ของห้างร้านในย่านสามแพร่งจึงลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การรักษาเสน่ห์ความเป็นร้านอาหารที่สืบทอดความอร่อยแบบเดิม กับความเป็นร้านขายสินค้าและบริการเฉพาะทาง คือเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ร้านเหล่านี้ยังสามารถดำรงอยู่และปรับสมดุลสู่การทำมาหาเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง

ทุกวันนี้สามแพร่งยังคงเป็นแหล่งของกินรสเด็ด ทั้งร้านเก่าที่อยู่คู่ย่านมานานหลายชั่วอายุคนและร้านใหม่ที่เข้ามาเปิดร่วมอยู่ภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเชลล์ชวนชิม เปิบพิสดาร ของหวานกินเล่น และของกินอีกมากมาย ซึ่งอาหารในปัจจุบันหลายจานก็สอดคล้องกับรายการอาหารที่มีขายในย่านนี้เมื่อร้อยปีที่แล้ว




ย่านประวัติศาสตร์มีชีวิตอันรุ่มรวยเสน่ห์แห่งนี้ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็มีร่องรอยประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่นท่ามกลางหมู่สถาปัตยกรรมอายุกว่าร้อยปี ถึงแม้จะมิใช่ของดั้งเดิมทุกสิ่งสรรพ์ แต่ก็รักษาของดั้งเดิมไว้ได้มาก นอกจากนี้ก็ยังมีความริเริ่มใหม่ๆ เข้ามาอยู่ร่วมเป็นเพื่อนบ้านกับชาวแพร่ง อาทิ บางกอกฟอรั่ม โรงแรมเดอะภูธร และพีเพิลสเปซ แกลเลอรี่อีกด้วย ความริเริ่มเหล่านี้สร้างสีสันใหม่ๆ และทำให้มีผู้คนใหม่ๆ เข้ามาเยี่ยมเยือนสามแพร่งมากขึ้น





นักศึกษาสถาปัตย์ ลาดกระบัง ปี ๑ & ปี ๕ ได้รับโอกาสอันอบอุ่นจากชุมชนสามแพร่งให้เข้ามาเยี่ยมเยือน สัมผัสชีวิตผู้คน วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อเรียนรู้สถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตและสภาพแวดล้อมผ่านแบบฝึกหัด “การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรม” “โฟโตโม (การทำแบบจำลองจากภาพถ่าย)” และ “โฟโตเทรซ (การแกะรอยภาพถ่าย)” ซึ่งฝึกการมองเห็นสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตรงหน้า เรียนรู้ แล้วถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาให้ผู้คนเข้าใจได้ ผลงาน “ศิลปะ” ซึ่งแสดงให้เห็นความงามของชีวิตในชุมชนโดยนักศึกษาสถาปัตย์นี้จะนำมาจัดแสดงนิทรรศการในย่านสามแพร่งที่ “พีเพิลสเปซ แกลเลอรี่” ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และหวังว่าอาจจุดประกายให้เกิดมุมมองใหม่ๆ แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการนี้ได้บ้าง





--------------------------------------------------------------------------------------------------------------



การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรม (Architectural Delineation)

การวาดเส้นทางสถาปัตยกรรมคือการเก็บข้อมูลและเรียนรู้ผ่านการเขียน ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการฝึกฝนสายตา สมอง และมือ เพื่อมองให้เห็นสิ่งที่ประทับใจแล้วเก็บด้วยความรู้สึก จดจำให้ได้ เรียนรู้ แล้วถ่ายทอดผ่านการเขียนออกไปให้ผู้คนเข้าใจ อย่างไรก็ดี ข้อมูลหรือผลงานภาพเขียนที่ได้นั้นเป็นเพียงผลผลิต หากสิ่งสำคัญคือกระบวนการที่เกิดขึ้น


การเขียนรูปทำให้ได้อย่างอื่นนอกเหนือจากการเขียนอีกมาก กระบวนการเขียนรูปเป็นการฝึกสมาธิ และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากสมาธิซึ่งจะต้องฝึกก็คือ การมองให้เห็นสิ่งที่จะเขียนก่อน ฝึกให้มองเห็นองค์ประกอบเชิงกราฟิกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแล้วเขียนออกมาเป็นภาพบนกระดาษ และในขณะที่เขียนนั้นก็จะเกิดการเชื่อมต่อของตา-สมอง-มือ เวลาที่เห็นแล้วเขียนออกมา ผู้เขียนก็จะได้สัดส่วนเหล่านั้นเข้าไว้ในตัวเหมือนกับการขีดเส้นความทรงจำเข้าไปในหัว การเขียนรูปจึงเท่ากับเป็นการ “เอาครูเข้าตัว” และเมื่อสมาธิทำงาน ผู้เขียนก็จะรู้สึกดิ่งลึกลงในภาพที่จะเขียน ในเส้นที่เขียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จุดประกายความรู้สึกสร้างสรรค์ การทำงานที่สร้างสรรค์ และได้ความรู้สึกในตอนนั้นว่ามีความสุขด้วย




การพานักศึกษามาเขียนรูปที่สามแพร่ง คือหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าต่างๆ ซึ่งประสบพบอยู่ได้รอบตัว เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเมือง เรื่องชีวิตเมืองกับสถาปัตยกรรม และหวังว่าพวกเขาจะได้สัมผัสในสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัส กินของอร่อยที่ไม่เคยกิน มีประสบการณ์ มีความประทับใจในชีวิต แม้แต่ความประทับใจนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ


เพราะฉะนั้น สิ่งที่เน้นจริงๆ ในการเขียนรูปคือเริ่มจากการมองให้เห็น มองให้เห็นแล้วก็เขียน เขียนให้ได้ตามหลักการ เขียนให้ได้ตามวิธีการพื้นฐานที่ควรจะเป็น และมีกระบวนการสร้างภาพที่สามารถจะสื่อความหมายได้อย่างที่ผ่านความรู้สึกของตนออกไป หลังจากนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือ “ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง”


การพานักศึกษาออกไปข้างนอกคือตัวอย่างของการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น สัมผัสในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส แล้วก็เขียน




-----------------------------------------------------------------------------------------------



โฟโตโม (Fotomo)

โฟโตโม /โฟ-โต-โหมะ/ คือการทำแบบจำลองด้วยภาพถ่าย โดยนำเอาภาพถ่ายของฉากในโลกความจริงมาตัด จัดวาง และประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพตัดแปะสามมิติ โฟโตโมเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ คิมิโอะ อิโตซากิ (Kimio Itozaki) นักถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นผู้มีมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ว่าด้วยชีวิตและศิลปะ


แม้ว่าการถ่ายภาพจะเป็นสื่อกลางที่บันทึกความจริงอย่างซื่อตรง ถ้าหากผู้ถ่ายภาพมีความซื่อตรงเพียงพอ แต่มันก็ทำในแบบสองมิติเท่านั้น



ในอีกด้านหนึ่ง แบบจำลองสามมิติโดยทั่วไปก็มักจะขาดความสมจริงและรายละเอียดที่ยิบย่อยลงไปของภาพถ่าย ดังนั้น จากชื่อของมันที่บ่งบอก (Fotomo = Foto + Model) โฟโตโมก็คือเทคนิควิธีอย่างหนึ่งซึ่งควบรวมเอาความสมจริงของการถ่ายภาพกับการมีตัวตนอยู่จริงทางกายภาพของแบบจำลองสามมิติเข้าไว้ด้วยกัน


เวลาที่มองโฟโตโม สิ่งแปลกๆ ก็จะเกิดขึ้นในสมอง ความจริงแบบสามมิติแท้ๆ ของแบบจำลองกับเนื้อที่สามมิติเสมือนจริงของภาพถ่าย จะผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ประสบการณ์สามมิติซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทัศนียภาพในตัวภาพถ่ายจะสื่อถึงความรู้สึกของความลึกภายในเนื้อที่อันจำกัดนั้น และเนื่องจากว่าโฟโตโมเป็นวัตถุสามมิติจริงๆ ซึ่งสามารถจะมองได้จากหลากแง่มุม มันจึงมีความสมจริงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้ผู้มองรู้สึกเหมือนกับว่า “ได้ไปอยู่ที่นั่นจริงๆ”

การทำโฟโตโมมักจะเลือกสิ่งธรรมดาทั่วไปที่ใครๆ ก็เดินผ่านเป็นหัวข้ออยู่เสมอ ดังเช่นฉากท้องถนนและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่พบเห็นกันทั่วไป ตลอดจนวัตถุทั้งหลายในชีวิตประจำวัน และจะไม่เลือกอาคารที่มีชื่อเสียงหรือสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นหัวข้อ เนื่องจากว่าต้องการจะแสดงออกถึงคุณค่าทางสุนทรียะภายในของสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นคือเหตุว่าทำไมการทำโฟโตโมถึงให้ความสนอกสนใจมากกว่าในสิ่งธรรมดาทั่วไป หรือ “ท้องถนน” ซึ่งใครๆ ก็เดินผ่าน และหลายคนอาจมองว่ามันช่างธรรมดาๆ ซึ่งก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “ความโหยหา” ที่คนทั่วไปมักนึกถึง

นักศึกษาสถาปัตย์ ลาดกระบัง ชั้นปีที่ ๕ เริ่มทำแบบฝึกหัดโฟโตโมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยเลือกทำโฟโตโมของย่านไหนก็ได้ตามความสนใจของตน สำหรับการทำโฟโตโมครั้งที่สามในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้เป็นครั้งแรกที่ทดลองทำโฟโตโมในย่านเดียวกันคือสามแพร่ง การนำโฟโตโมมาเป็นแบบฝึกหัดสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๕ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสชีวิตผู้คนและสถาปัตยกรรมในย่านต่างๆ ร่วมกันเป็นทีม ฝึกสังเกตชีวิตประจำวันผ่านภาพรวมและรายละเอียดทั้งหลายที่มีอยู่ตามท้องถนนทั่วไป ฝึกมองให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ต่อหน้าต่อตาซึ่งอาจจะคิดไปเองล่วงหน้าว่าเห็นแล้วหรือรู้แล้ว ฝึกมองให้เห็นความสร้างสรรค์ของผู้คนในชีวิตประจำวัน เก็บข้อมูล เรียนรู้และถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนเข้าใจได้


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------


โฟโตเทรซ (Fototrace)

โฟโตเทรซ คือการแกะรอยภาพถ่ายที่บันทึกความสนใจหรือความประทับใจของผู้ถ่ายภาพระหว่างการสัมผัสชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในย่านต่างๆ โดยเริ่มจากนำกระดาษไขทาบลงบนภาพถ่ายต้นฉบับที่เลือกมาแล้วติดเทปไม่ให้เลื่อนออกจากกัน จากนั้นจึงใช้ปากกาตัดเส้นสีดำลากไปตามความต่อเนื่องและความแตกต่างของรูปร่าง แสงเงา และลวดลายที่มีอยู่ในภาพถ่ายนั้นทั้งหมด โดยปราศจากการซอยเส้นลงน้ำหนักอ่อนแก่และไม่ถมดำ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้จนถึงที่สุด


การเขียนทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้โดยผ่านการมองเห็น ไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์การเห็นและการสังเกตของตนเอง หรือผ่านการบันทึกด้วยการเขียนจากประสบการณ์ผู้อื่นก็ตาม หลังจากเขียนรูปเสร็จแล้วนักศึกษาจะได้พิจารณากระบวนการตั้งแต่การถ่ายภาพระหว่างการลงพื้นที่จนเขียนรูปเสร็จโดยตลอดว่าเห็นอะไรบ้าง จากนั้นจึงเขียนคำบรรยายประกอบภาพเพื่อเรียนรู้และสร้างสมดุลระหว่างการเขียนรูปกับการเขียนหนังสือให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตลอดจนถ่ายทอดให้ผู้อื่นเห็นตามได้ว่าผู้แกะรอยนั้นเห็นอะไรบ้าง







นี้คือกระบวนการที่พยายามจะส่งเสริมให้นักศึกษาเห็น คิด พูด และทำตรงกัน โดยไม่ขัดแย้งกันเอง “เห็นอะไรคิดอย่างนั้น คิดอะไรพูดอย่างนั้น พูดอะไรทำอย่างนั้น” ซึ่งมีความดีงามอยู่ในตัว สำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ที่ถูกอบรมบ่มเพาะมาให้สนใจในสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลัก และให้ความสนใจกับผู้คนและสรรพชีวิตแต่น้อยแล้ว สายตาที่มองเห็นชีวิตธรรมดาๆ แบบคนทั่วไปนั้นอาจจะพร่าเลือนหรือจางหายไป

โฟโตเทรซจึงพยายามที่จะ “ปลุก” “ฟื้นคืน” หรือ “เปิดมุมมอง” ให้สายตาของนักศึกษาสถาปัตย์ ชั้นปีที่ ๕ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง คืนความมีชีวิตชีวาให้กับสายตาของนักศึกษาสถาปัตย์มองเห็นสิ่งทั้งหลายที่อยู่ต่อหน้าต่อตาของตนเอง เห็นชีวิตที่มีอยู่และดำรงอยู่ในปัจจุบัน


สำหรับการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานโฟโตเทรซของนักศึกษา ๕ ชิ้น ยังได้รับความเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษในการลงสีโดยศิลปินรับเชิญ ทรงวิทย์ สี่กิติกุล ผู้เขียนหนังสือ “โลกของเรา” และ “ที่นี่มีชีวิต” อีกด้วย

เวลาที่เราเห็นว่าสิ่งใดมีชีวิต มีความรู้สึก เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราเห็นว่าสิ่งใดไม่มีชีวิต เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอีกอย่างหนึ่ง ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมนั้นสถาปนิกไม่ได้สร้างงานศิลปะเพื่อตนเอง หรือศิลปะเพื่อศิลปะ ทว่าออกแบบและสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมเพื่อผู้คนและชีวิต







ด้วยเหตุนี้ สถาปนิกจึงจำเป็นที่จะต้องสัมผัส มองให้เห็นถึงสิ่งที่มีอยู่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะชีวิตที่ดำรงอยู่ในสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมที่สถาปนิกจะออกแบบ เปิดตาเปิดใจให้มองเห็นชีวิต เอาใจใส่ อ่อนไหวและอ่อนโยนต่อชีวิต เห็นคุณค่าและความงามของชีวิตที่มีอยู่ดำรงอยู่ต่อหน้าต่อตาของตน มิเช่นนั้นแล้ว การทำงานของสถาปนิกก็คงจะเปี่ยมไปด้วยความรุนแรงและไม่ต่างจากอาชญากรรมสักเท่าใดนัก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม





--------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ชีวิตงามที่สามแพร่ง


จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2553

งานเปิดนิทรรศการ วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไป

แกลเลอรีเปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ 11 โมงถึง 1 ทุ่ม



ข้อมูลเพิ่มเติม โทร 082-7855594

Email: people.space@yahoo.com หรือ peoplespace.bangkok@gmail.com


p.s. ติดตามกิจกรรมอันหลากหลายเร็วๆ นี้








Saturday, March 06, 2010

Paris l'Endroit et l'Envers : Paris Verse / Reversed



People Space อยากชวนทุกๆ คนไปชมงานนิทรรศการ Paris l'Endroit et l'Envers : Paris Verse / Reversed ของคุณศุภชัย เกศการุณกุล กันค่ะ

งานนี้จัดระหว่างวันที่ 18/10/2010 ถึง 25/04/2010 ที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร

งานเปิดนิทรรศการวันที่ 18 มีนาคม 2010 เวลา 6 โมงเย็น

หากใครสนใจ ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.momoest.com/

ขอให้ชมนิทรรศการอย่างเพลิดเพลินค่ะ :)

P.S. เตรียมพบกับนิทรรศการใหม่ที่ People Space ในเดือนเมษายนนี้ค่ะ (แล้วจะมาบอกข่าวเร็วๆ นี้นะคะ)



Thursday, February 11, 2010

รำลึก...กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


PS Gallery ขอเชิญเพื่อนผองน้องพี่ ร่วมงานเสวนารำลึกถึง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ในวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป


มาร่วมวงเสวนาแบบสบายๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


- คนหนุ่มสาวอ่านอะไร

โดย สิทธิเดช โรหิตะสุข อาจารย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ธิติ มีแต้ม บ.ก.ปาจารยสาร

แก้วตา ธัมอิน เจ้าหน้าที่ biothai

ดำเนินรายการโดย คุณวัตร ไพรภัทรกุล


- บทวิเคราะห์ศึกษาผลงาน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

โดย อ.สกุล บุณยทัต มหาวิทยาลัยศิลปากร


- บทบาทกวีบนพื้นที่ทางการเมือง

โดย วาด รวี และ ไม้หนึ่ง ก.กุนที


PS ชวนร่วมวงเสวนาช่วงต้นปี ก่อนจะพบกับนิทรรศการครั้งใหม่เร็วๆ นี้ค่ะ

Thursday, September 17, 2009

สายลมพลิ้วผ่านต้นจำปา ในดวงตาของชัยพงษ์ กิตตินราดร

นี่เป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมรู้สึกใจหาย ใจหายเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างหายไปจากชีวิต ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ทราบข่าวว่า คุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิต

ผมแวะเข้าไปจัดการงานเล็กน้อยที่บ้านสีฟ้า สำนักงานของ openbooks ในช่วงบ่าย ตกเย็นชวน วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ให้ขึ้นรถมากินข้าวด้วยกันที่ PS Gallery แพร่งภูธร เพราะมีนัดกับนักเขียนรุ่นใหม่หลายคนที่มีผลงานอยู่ใน www.onopen.com รถติดเล็กน้อยตอนที่เรากำลังจะออกเดินทาง เราเปรยถึงคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร ช่างภาพขาว-ดำ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

คุณชัยพงษ์ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาการของโรคลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนคุณชัยพงษ์ทรุดหนัก ผมแวะไปเยี่ยมคุณชัยพงษ์เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน แม้อาการภายนอกจะบ่งบอกถึงการเสื่อมโทรมลงไปของสังขาร แต่จากสภาวะจิตภายใน คุณชัยพงษ์ยังคงเข้มแข็งและพูดจาตอบโต้กับพวกเรา อันหมายรวมถึงเต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และคุณปุ๋ยแห่ง bwfoto.net ได้เป็นอย่างดี

เราคุยกันถึงการนำเอางานภาพถ่ายขาว-ดำ ในส่วนที่ยังไม่เคยมีการจัดแสดงของคุณชัยพงษ์ มารวมเล่มตีพิมพ์ คุณปุ๋ยและเต้กรุณารวบรวมต้นฉบับทั้งหมดมาให้คุณชัยพงษ์ได้เลือกคัด คุณชัยพงษ์เองก็ยังมีสติดีพอที่จะคัดส่วนที่คิดว่าไม่เป็นเอกภาพออกไป และฝากฝังให้ผมช่วยเขียนคำนำในหนังสือให้ด้วย

“เขียนอะไรก็ได้ ตามใจคุณภิญโญ จะเขียนถึงเรื่องความป่วยไข้ หรือความตายของผมก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจ ใช้ผมเป็นกรณีศึกษาได้” คุณชัยพงษ์บอกผมด้วยน้ำเสียงอิดโรย ด้วยช่วงนั้นระบบการทำงานของตับและไตค่อนข้างจะมีปัญหาหนัก ขาคุณชัยพงษ์จึงบวม ร่างกายซีดเหลืองและซูบลงไปจากเดิมเป็นอันมาก
“พี่จะรีบไปไหน หนังสือยังไม่เสร็จห้ามตายนะพี่ ผมในฐานะบรรณาธิการยังไม่อนุญาตให้พี่ตาย” ผมแกล้งหยอกเย้ากับคุณชัยพงษ์แรงๆ ซึ่งก็ช่วยทำให้คุณชัยพงษ์หัวเราะออกมาได้เบาๆ ผมจึงกระเซ้าต่อว่า
“อยู่ช่วยขายหนังสือให้ผมก่อนนะพี่”
คุณชัยพงษ์ไม่ได้รับปาก เพียงแต่บอกว่า
“ผมอ่อนแรงเต็มที อาการตอนนี้อยู่ในขั้นตรีทูตแล้ว”
“พี่ต้องมาเปิดงานแสดงภาพถ่ายให้ผมก่อน ถ้าเดินไม่ไหวจะให้โฟนอินมาเหมือนคุณทักษิณ”
คุณชัยพงษ์ซึ่งเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัวยงหัวเราะเบาๆ กับตลกร้ายของผม

ทั้งหมดนี้ คือบทสนทนาครั้งสุดท้ายระหว่างคุณชัยพงษ์กับผม เพราะบ่ายวันนี้ ในเวลาใกล้เคียงกับที่เราออกเดินทางจากสำนักงานมาที่แกลเลอรี่และกำลังคุยถึงพี่ชัยพงษ์ พี่ชัยพงษ์ก็สิ้นลมอย่างสงบ


กว่าผมจะทราบข่าวก็ช่วงค่ำ เมื่อเต้โทรศัพท์มาแจ้ง ผมรู้สึกใจหายเหมือนดังที่เล่าไว้ในเบื้องต้น ผมหยิบหนังสือ Mind’s Eye ที่วางอยู่ในแกลเลอรี่มาให้ทุกคนดู บางคนที่ยังไม่เคยเห็นภาพของคุณชัยพงษ์มาก่อน เอ่ยปากชมว่าภาพสวยมาก

ผมเพิ่งนึกได้ว่าหยิบหนังสือเล่มนี้ห่อใหญ่ฝากวรพจน์ช่วยถือขึ้นรถมาเมื่อตอนบ่ายนี้เอง หนังสือ Mind’s Eye ที่แกลเลอรี่เหลือน้อย แต่ผมก็ยังไม่เคยหยิบมาเติมเสียที จนกระทั่งวันนี้ ทั้งๆ ที่มีหนังสืออื่นเต็มกระเป๋า แต่ผมก็ตั้งใจว่า จะหยิบหนังสือของพี่ชัยพงษ์มาที่แกลเลอรี่

หรือพี่ชัยพงษ์จะส่งข่าวบางอย่างมาถึงผม ถึงตอนนี้ ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะคิดเช่นนั้น

ผมรู้จักพี่ชัยพงษ์ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่คิดว่าจะพิมพ์รวมเล่มหนังสือ พุทธบูรณา (พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์) ของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ผมถามเต้-ธวัชชัย ว่ารู้จักช่างภาพขาว-ดำฝีมือดีที่สนใจงานทางด้านศาสนาบ้างไหม ไม่กี่วันต่อมาเต้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่ชัยพงษ์

วันนั้น พี่ชัยพงษ์ขับรถมาเยี่ยมบ้านสีฟ้า พร้อมภาพถ่ายกล่องใหญ่ ผมดูภาพแล้วก็ตัดสินใจโดยไม่ต้องลังเลเลยว่า งานนี้คงต้องอาศัยประสบการณ์และสายสัมพันธ์ของพี่ชัยพงษ์เป็นแน่แท้ เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นการเรียบเรียงชีวประวัติท่านอาจารย์พุทธทาสขึ้นมาใหม่ในรูปแบบกึ่งนวนิยาย ภาพถ่ายทั้งหลาย จึงมิใช่ภาพประกอบตรงไปตรง หากแต่ต้องอาศัยการตีความของช่างภาพ ซึ่งช่างภาพที่จะถ่ายงานในลักษณะนี้ได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคยผ่านสวนโมกข์มาแล้ว ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ให้พอดีที่พี่ชัยพงษ์เป็นช่างภาพผู้นั้น

ผู้ซึ่งสนใจทั้งภาพ สนใจทั้งธรรม และมีความดื่มด่ำกับสวนโมกข์

พี่ชัยพงษ์หายตัวไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะต้องเดินทางลงใต้ ครั้นถึงกำหนดนัดหมาย พี่ชัยพงษ์กลับมาพร้อมภาพถ่ายขาว-ดำกล่องใหญ่ และนั่นได้กลายเป็นภาพประกอบที่สวยงามในหนังสือ พุทธบูรณา ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเป็นอย่างยิ่ง ภาพบางภาพ เช่นห้องนอนของท่านอาจารย์พุทธทาส ห้องหนังสือ ถ้าไม่ได้รู้จักกับพระคุณเจ้าทั้งหลายที่ดูแลสวนโมกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็คงเป็นการยากเต็มทีที่จะได้เข้าไปถ่าย บางภาพคุณชัยพงษ์ต้องยอมตื่นแต่เช้ามืด เพื่อเก็บภาพพระในสวนโมกข์ตื่นขึ้นมาเดิมจงกลม ผมเองไม่ใช่ช่างภาพ แต่ก็เข้าใจว่า โดยทางเทคนิคแล้วคงยากเอาการอยู่ เพราะในยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเช่นนั้น ไหนเลยจะมีแสงธรรมชาติให้ถ่ายภาพได้ ลำพังแสงจากหลอดไฟไม่กี่แรงเทียน แค่มือสั่นนิดเดียว ภาพก็ไหวเสียแล้ว แต่พี่ชัยพงษ์ก็สามารถถ่ายภาพดังกล่าวออกมาได้อย่างน่าดูชม

นี่คือสปิริตที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพถ่ายของพี่ชัยพงษ์

หนังสือพุทธบูรณาทำให้พี่ชัยพงษ์มีโอกาสได้ขึ้นเวทีเดียวกับอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ที่ห้องประชุมใหม่เอี่ยมบนตึกโดม ท่าพระจันทร์ แม้จะไม่เคยเอ่ยปากบอกกันตรงๆ แต่ผมเชื่อว่า ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ พี่ชัยพงษ์น่าจะมีความภูมิใจอยู่ไม่น้อย ที่ได้กลับมารับใช้สถาบันเก่าของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่วมกับนักคิดชั้นนำที่ตนเองนับถือ

รายการเสวนาวันนั้นสนุกครับ อาจารย์เสกสรรอยู่ในภาวะถอดหมวกออกเสียแล้ว วงสนทนาจึงไม่เครียด หากเต็มไปด้วยความลุ่มลึกและอารมณ์ขัน ผมเองได้ร่วมทำหน้าที่ซักถามอยู่บนเวทีวันนั้น ได้เห็นสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสของทุกคนแล้ว บอกได้คำเดียวว่าสุขใจ

จากการได้ร่วมงานกันในครั้งนั้น พี่ชัยพงษ์กับผมก็คบหากันเรื่อยมา ทั้งในฐานะพี่น้องและเพื่อนร่วมงาน(ต่างวัย) เมื่อเราริเริ่มจะเปิดแกลเลอรี่ที่แพร่งภูธร พี่ชัยพงษ์จึงกลายเป็นช่างภาพคนแรกที่ได้รับเชิญให้มาแสดงงาน ด้วยความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย

กิจการแกลเลอรี่ขนาดเล็กของพวกเราในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างขรุขระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณ และก็เป็นพี่ชัยพงษ์นี่เองที่คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือ ถึงขนาดที่ว่า ขนทั้งเครื่องปรับอากาศและช่างมาติดตั้งแอร์ตัวใหญ่ให้ถึงที่ หลังจากพบว่าแกลเลอรี่แห่งนี้ช่างร้อนเหลือเกิน

น้ำใจจากพี่ชัยพงษ์ทำให้ชั้นสองเปลี่ยนจากห้องซาวน่ากลายมาเป็นห้องที่เย็นฉ่ำ เป็นสถานที่ที่เราสามารถใช้จัดกิจกรรม ทั้งเสวนา เล่นดนตรี ฉายภาพยนตร์ มาได้ด้วยดี โดยที่ผู้ฟังอาจไม่เคยรู้เลยว่า อากาศที่เย็นสบายนั้น มีชายชื่อ ชัยพงษ์ กิตตินราดร อยู่เบื้องหลัง

และก็ด้วยงานแสดงนี้เอง ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกับพี่ชัยพงษ์อีกครั้ง ในโครงการหนังสือ Mind’s Eye ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ภาพถ่ายขาว-ดำลงสีด้วยมือเป็นเล่ม (ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ของประเทศไทย) งานนี้เป็นงานใหญ่ ใช้เวลามาก ใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง พี่ชัยพงษ์และผม จึงต้องพบกันบ่อยๆ ในช่วงสองสามเดือนที่เราจัดเตรียมต้นฉบับหนังสือเล่มนี้


คนที่รู้จักพี่ชัยพงษ์ดี คงจะรู้ว่าพี่ชัยพงษ์เป็นคนละเอียด การทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนละเอียดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พี่ชัยพงษ์ก็ยอมอะลุ้มอล่วยกับข้อจำกัดของธุรกิจและเทคโนโลยี จนทำให้เราผ่านงานนี้มาได้ด้วยความสบายใจกันทุกฝ่าย




เมื่อแล้วเสร็จ หนังสือ Mind’s Eye ได้รับคำชมและเสียงตอบรับที่ดีมากในวงการและในวงกว้าง
หนังสือเล่มนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่สวยที่สุดที่สำนักพิมพ์ openbooks เคยตีพิมพ์มา
เป็นหนังสือที่เมื่อสำเร็จออกมาแล้ว ก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า สร้างความภูมิใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

และนี่เองที่ทำให้ผมได้สัมภาษณ์พี่ชัยพงษ์เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร Image อีกครั้ง
เป็นสัมภาษณ์ใหญ่ความยาวสิบกว่าหน้า ลงทั้งภาพเหมือนพี่ชัยพงษ์ และภาพที่พี่ชัยพงษ์ได้เคยถ่ายเอาไว้
ไม่ง่ายนะครับ ที่คนธรรมดาไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงสังคม จะได้พื้นที่สัมภาษณ์ใหญ่ในนิตยสารผู้หญิงกระแสหลักเช่นนี้ แต่พี่ชัยพงษ์ก็สามารถสร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้ จากสิ่งที่ตัวเองรัก นั่นก็คือการถ่ายภาพ

งานแสดงภาพถ่ายของพี่ชัยพงษ์ผ่านไปได้ด้วยดี ญาติมิตรและลูกศิษย์มากันล้นหลาม จนต้องมีการฉายสไลด์ประกอบดนตรีกันถึงสองสามรอบกว่าทุกคนจะได้ชมกันครบ เราขายหนังสือไปได้เกือบร้อยเล่มในงานเดียว

นี่ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะครับ เพราะหนังสือเล่มนี้มีราคาสูงถึง 1,200 บาท ต่อให้ลดแล้วเหลือ 700 บาท แต่ถ้าไม่สนใจจริงหรือไม่รักกันจริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนยอมควักเงินเพื่อซื้อหนังสือภาพถ่ายหนึ่งเล่มในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

แต่พี่ชัยพงษ์ก็ทำได้ เพราะคนที่มางานนี้ ถ้าไม่เคารพในฝีมือ ก็ล้วนแล้วแต่รักในตัวพี่ชัยพงษ์ทั้งสิ้น
ผมเองจัดอยู่ในทั้งสองประเภท คือ ทั้งเคารพและรัก

ในฐานะคนทำงาน ผมเคารพในความมุ่งมั่น หมั่นแสวงหาความรู้ และกล้าลองผิดลองถูก โดยไม่ยึดติดตำราหรือทฤษฎีด้านการถ่ายภาพ จนก่อให้เกิดเป็นแนวทางของตนเองที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านการศึกษาด้านจากสถาบันใดๆ มาก่อน นี่คือแบบอย่างของการทำงานที่ดี ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่ที่งานถ่ายภาพเท่านั้น
หากแต่ยังหมายรวมถึงงานศิลปะทุกแขนง

ในฐานะมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เกิดมามีฐานะการเงินพอที่จะเริ่มต้นอาชีพการงานได้อย่างสะดวกสบาย ผมจึงอดไม่ได้ที่จะรักในความเป็นคนสู้ชีวิต ความมีน้ำอดน้ำทน จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายในวัยเยาว์ และสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง มีทั้งภรรยาที่เป็นกัลยาณมิตร และมีลูกซึ่งเป็นอภิชาตบุตรทั้งสองคน ของพี่ชัยพงษ์

ในบั้นปลายชีวิตพี่ชัยพงษ์จึงสมบูรณ์ เพราะได้พบเจอ ได้กระทำ และได้ละวาง อย่างครบถ้วน
ซึ่งพี่ชัยพงษ์เองก็ตระหนักดีถึงความจริงข้อนี้ พี่ชัยพงษ์จึงมักเปรยให้คนใกล้ชิดฟังบ่อยๆ ว่า
“ตอนนี้ ผมไม่ต้องมีห่วงด้านเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว”
แม้ในการพบกันครั้งสุดท้าย พี่ชัยพงษ์ก็ยังเอ่ยถึงความข้อนี้



ลึกๆ แล้วพี่ชัยพงษ์เป็นซ้ายนะครับ ซ้ายในความหมายง่ายๆ ว่า เห็นใจคนส่วนใหญ่และไม่ได้สรรเสริญความมั่งคั่ง กระทั่งไม่ได้อยากจะสะสมสมบัติไว้ให้ลุกหลานล้างผลาญไปสามชั่วคน สงครามของพี่ชัยพงษ์จึงไม่ใช่สงครามทางธุรกิจเหมือนคนทั่วไป หากแต่เป็นสงครามที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของระบบทุนนิยม ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในบั้นปลาย พี่ชัยพงษ์สามารถทำได้ และประสบชัยชนะในสงครามที่คนส่วนใหญ่ของโลกต้องพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่พี่ชัยพงษ์จะบอกว่า
“ผมหมดห่วงแล้ว” เมื่อตอนพบกันครั้งหลังสุด

ผมเองก็เชื่อว่าพี่ชัยพงษ์หมดห่วงแล้วจริงๆ พี่ชัยพงษ์จึงต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเข้มแข็ง และจากไปอย่างมีสติ ซึ่งก็ทำให้ผมเชื่อว่า พี่ชัยพงษ์น่าจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี หรือที่คนไทยเราเรียกว่า ได้ไปที่ชอบๆ

ที่ชอบๆ ของพี่ชัยพงษ์จะเป็นเช่นไรนั้น ผมเองหมดปัญญาจะคาดเดา ผมได้แต่คิดถึงภาพถ่ายเด็กน้อยสี่ห้าคนที่วิ่งเล่นใต้ต้นจำปา ซึ่งพี่ชัยพงษ์ถ่ายไว้ได้ที่จำปาศักดิ์




ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงามทั้งด้านองค์ประกอบ และมีชีวิตชีวาตามอย่างภาพที่ดีควรจะมี เด็กทุกคนยิ้มแย้ม ไม่มีความทุกข์โศกในดวงหน้า สีที่พี่ชัยพงษ์ระบายลงในรูปอย่างบางเบา ก็ยิ่งช่วยทำให้ภาพนี้งดงามจับใจขึ้น

ผมมองภาพนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า สวรรค์ของพี่ชัยพงษ์ ซึ่งเป็นช่างภาพชั้นเยี่ยม ก็คงอยู่ไม่ไกลจากจำปาต้นนั้น และถ้าท่านลองพิจารณาภาพนั้นให้ดี ลองมองเข้าไปภายในด้วยดวงใจของท่านแล้ว
ท่านก็อาจเห็นช่างภาพคนหนึ่งกำลังยืนนิ่งเล็งกล้องไปที่เด็กกลุ่มนั้นอย่างสงบ
นั่นล่ะครับ พี่ชัยพงษ์ที่ผมรู้จัก รัก และเคารพ

ด้วยความระลึกถึง
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
16 กันยายน 2552

Monday, August 24, 2009

พาคุณ ’รงค์ เยือนภูเก็ต


พาคุณ ’รงค์ เยือนภูเก็ต

นิทรรศการภาพถ่าย "สะพานข้ามยุคสมัยของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์" จะเดินทางไปแสดงที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 3 กันยายน ถึง 18 ตุลาคม 2552 โดยจะจัดแสดงใน 3 สถานที่ ได้แก่
  • วันที่ 3-11 ก.ย. 52 - อาคารระวิจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (เปิดงานวันที่ 3 กันยายน เวลา 15.00 น.)
กิจกรรม: วันที่ 3 ก.ย. 52 เวลา 13.00 - 15.00 น.
เปิดวงเสวนาในหัวข้อ "สะพานข้ามยุคสมัยของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์"
ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ
ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และวันเสาร์ เชิงศรี กลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ
  • 12-28 ก.ย. 52 - ร้านหนัง(สือ) ๒๕๒๑ ถ.ถลาง

กิจกรรม: วันที่ 12 ก.ย. 52 เวลา 19.00 น.
เสวนาในหัวข้อ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในงาน Book Club ครั้งที่ 2

  • 4 -18 ตุลาคม - Adex Sign & gallery ถ.บายพาสส์
กิจกรรม: วันที่ 4 ต.ค. 52 เวลา 17.00 น.
ร่วมเสวนาภาษาช่างภาพ กับภาพถ่ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
---------------------------------------------------------------------------
สำหรับใครที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นชาวภูเก็ตหรือผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปภูเก็ตในช่วงนั้น อย่าลืมหาเวลาไปเยี่ยมชมกันนะคะ :-)

Monday, July 20, 2009

Narrative Tableaux: ภาพพรรณนา

The Colonel's Nightly Visit to Ponil Park

People Space เชิญทุกท่านร่วมสัมผัส "ภาพพรรณนา" (Narrative Tableaux) ผลงานภาพถ่ายโดย แดน โอเวอร์เทิร์ฟ (Dan Overturf) ศิลปินชาวอเมริกัน ที่บินไกลมาเพื่อร่วมเปิดงานและเปิดวงเสวนาว่าด้วยการถ่ายภาพสารคดีและเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานภาพถ่ายเล่าเรื่อง (Narrative Photography)

ภาพพรรณนา (Narrative Tableaux) เป็นโปรเจ็คต์ที่แดนริเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยใช้ฟิล์มขาว-ดำเป็นหลัก แม้ในช่วงเวลาต่อมา เขาจะยุ่งอยู่กับการทำงานงานเชิงสารคดีมากกว่า แต่แง่มุมของการเล่าเรื่องยังคงเป็นสิ่งที่แดนสนใจเสมอมา เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างเรื่องราวที่มีอยู่แล้วเพื่อรอการค้นพบ (Found) ซึ่งเป็นหัวใจของงานภาพถ่ายสารคดี กับเรื่องราวที่ถูกเรียงร้อยขึ้นผ่านสายตาของศิลปิน (Fabricated) ซึ่งเป็นมุมมองของปัจเจก ดูเหมือนจะเป็นเส้นแบ่งที่ค่อนข้างเลือนราง แดนมองว่าเรื่องราวทั้งสองรูปแบบต่างเป็นรากฐานของศิลปะการถ่ายภาพรวมไปถึงชีวิต



Father's Day in Uncle Swilling's Workshop

ภาพพรรณนา (Narrative Tableaux) ประมวลขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่แดนมีโอกาสได้อ่าน ได้เห็น หรือได้ฟังจากเกร็ดเรื่องเล่าต่างๆ ด้วยเหตุนี้ งานชุดนี้จึงชวนให้นึกถึงวิธีการเล่าเรื่องแบบที่พบเห็นอยู่ทั่วๆ ไป เพียงแต่แดนเลือกที่จะนำเรื่องราวต่างๆ มาตีความผ่านสื่อภาพถ่ายแทน

จุดเริ่มต้นของภาพชุดนี้มาจากหลายแหล่งหลากที่มา เช่นข้อเขียน Narrative of Remarkable Criminal Trials โดย Anslem Ritter von Feuerbach ไปจนถึงข้อสังเกตของเพื่อนบ้านซึ่งทำงานกะดึกในโรงพยาบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ท่าทางต่างๆ ที่พบในภาพวาดสมัยเรอเนซองส์เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ ภาพในงานชุดนี้

จากจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจเหล่านั้น แดนเริ่มร่างภาพคร่าวๆ ซึ่งนำไปสู่แก่นเรื่อง (Theme) และผลงานภาพถ่ายที่สำเร็จออกมาเป็นรูปร่าง แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ทั้งหมดล้วนผ่านการกลั่นกรองอย่างดีที่สุด ฉากหลังของภาพแต่ละภาพ บางครั้งใช้เวลาออกแบบและติดตั้งหลายเดือน และทั้งหมดถูกทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อภาพแต่ละภาพ เรื่องราวแต่ละเรื่องราว จากนั้นเรื่องราวจะถูกบันทึกด้วยกล้องถ่ายรูป โดยไม่มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งใดๆ ในภายหลัง


Jodie Santana and the Carlyle Wax Droplets

แม้จะยุ่งยาก แต่แดนก็เลือกที่จะทำงานเช่นนี้ เพราะเขาพบว่าการเตรียมสภาพแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับงานแต่ละชิ้นนั้นให้ผลตอบแทนทางความรู้สึกที่คุ้มค่า ความสนุกและสุขใจอยู่ที่การได้ลงไปสัมผัสความซับซ้อนของกระบวนการก่อนผลิต (Pre-production) การออกแบบฉากและโครงสร้าง การออกแบบแสง การทำอุปกรณ์ประกอบฉาก และการกำกับผู้แสดง

และเมื่อทั้งหมดพร้อม ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายอันสมบูรณ์ในที่สุด


Lonnie Swept the Playroom and Swallowed Up All that He Found

People Space เชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมอ่านเรื่องราวจากภาพถ่ายผ่านสายตาของ แดน โอเวอร์เทิร์ฟ
แล้วคุณอาจจะพบว่า ข้างหลังภาพที่ผ่านตาไปมา มีเรื่องราวให้ค้นพบเสมอ


-----------------------------------------------------------------------

กิจกรรม:

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2552 เวลา 15.00 น.
- เสวนาการถ่ายภาพสารคดี (Documentary Photography) ผ่านงานชุด A River through Illinois
โดย แดน โอเวอร์เทิร์ฟ

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552 เวลา 15.00 น.
- ถ่ายทอดเบื้องหลังการทำงานชุด “ภาพพรรณนา” (Narrative Tableaux) โดย แดน โอเวอร์เทิร์ฟ

-----------------------------------------------------------------------


ภาพพรรณนา : Narrative Tableaux

เปิดแสดงระหว่างวันที่ 9 สิงหาคมถึง 5 กันยายน 2552
วันเปิดนิทรรศการ : วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2552 เวลา 16.30 น.
สถานที่แสดง : People Space แพร่งภูธร
เวลาเปิด : เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ 11 โมงถึง 1 ทุ่ม
โทรศัพท์ : 082-785-5594
อีเมล : people.space@yahoo.com
http://www.people-space.blogspot.com/

Friday, July 10, 2009

In Memory of 'Rong Wongsawan

Wednesday, June 17, 2009

คนรุ่นเราในเงาเวลาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

Monday, May 25, 2009

Bridge: สะพานข้ามยุคสมัยของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์



ฝนฟ้ายังคงโปรยปรายมาตลอดวันอาทิตย์ของเดือนพฤษภาคม แต่มิตรรักนักอ่านก็ยังสู้อุตส่าห์ฝ่าสายฝนมาร่วมชมภาพถ่ายและฟังเสวนากับนิทรรศการ ในเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กันอย่างคึกคักจนหลายครั้งเหมือนเกิดม็อบย่อยๆ ที่ PS-แกลเลอรีเล็กๆ ย่านแพร่งภูธร บางวันเครื่องปรับอากาศแทบจะหมดสภาพ และขอลาออกจากการทำงาน ชั่วแต่ว่าทีมงานขอร้องไว้ให้อยู่ช่วยกันไปอีกสักระยะ มันจึงทุลักทุเลผลิตความเย็นแผ่วๆ พอให้ทุกคนได้เหงื่อตกกันถ้วนหน้าที่โถงชั้นล่าง ก่อนจะขึ้นไปรับอากาศที่เย็นชุ่มฉ่ำกว่าบนพื้นที่เสวนาชั้นสอง


ความคึกคักอันมักไม่ปรากฏเช่นนี้ ทำให้ PS, openbooks และพันธมิตรตัดสินใจขยายระยะเวลาแสดงงานภาพถ่ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ออกไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน นอกจากภาพถ่าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์และบรรยากาศสวนทูนอินฝีมือธวัชชัย พัฒนาภรณ์ แล้ว ตลอดทั้งเดือนท่านยังจะได้พบภาพถ่ายชุด Bridge-สะพานเชื่อมยุคสมัย ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ อันมีหลายภาพที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน







นอกจากนี้ยังมีรายการเสวนาที่น่าสนใจตลอดทั้งเดือน เพื่อเชื่อมต่อความคิดจากยุคปี 2502 สู่ยุคปี 2552


เริ่มจากวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2552 เวลา 18.00 น.
ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day จะมานั่งลงสนทนากับบอ.บู๋ จากสตาร์ซ็อคเกอร์
ในหัวข้อ “คนรุ่นเราในเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สววรค์”

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2552 เวลา 18.00 น. เช่นเดิม
นักเขียนขายดี “นิ้วกลม” จะมานั่งตั้งคำถามสฤณี อาชวานันทกุล และปกป้อง จันวิทย์
ในงานเปิดตัวหนังสือวิชาสุดท้ายเล่ม 2 ด้วยการเสวนาในหัวข้อ
“การอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ชีวิตจากหนังสือ”

อาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน เลื่อนเวลาเร็วขึ้นเป็น 17.00 น.
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง “นรา” เตรียมนั่งลงคุยกับช่างภาพชื่อดังมานิต ศรีวานิชภูมิ
ในหัวข้อ “อ่าน’รงค์ วงษ์สวรรค์จากภาพถ่าย”
(รายการนี้จัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับช่างภาพ)

ก่อนจะต่อเนื่องด้วยรายการที่หลายคนรอคอยในเวลา 19.00 น.
กับการเปิดตัวหนังสือ Postmodern Man

ด้วยการเสวนาในหัวข้อ “มนุษย์ ยุคสมัย และความหมาย-จากอารยธรรมโบราณสู่โพสต์โมเดิร์น”
โดยไชยันต์ ไชยพร และธเนศ วงศ์ยานนาวา
ร่วมจัดโดยสำนักพิมพ์สมมติ ที่พร้อมขนหนังสือสองเล่มใหม่ของธเนศมาลดราคาเป็นพิเศษให้กับผู้ฟัง เช่นเดียวกับหนังสือทุกเล่มของไชยันต์จาก openbooks

ปิดท้ายรายการวันที่ 28 มิถุนายน 2552 เวลา 14.00 น.
รำลึก 100 วันแห่งการจากไปของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยปาฐกถาธรรม
โดยพระไพศาล วิสาโล ในหัวข้อ “ความตายและความหมายของชีวิต”







ในงานนอกจากหนังสือใหม่ทุกเล่มของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ในราคาลดพิเศษแล้ว ท่านยังสามารถช่วยซื้อภาพถ่ายขาว-ดำของทั้ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ในราคาพิเศษเพื่อสมทบทุนในการนำนิทรรศการชุดนี้ออกแสดงตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ มิตรรักนักสะสมภาพสามารถสั่งจองล่วงหน้าได้ เพราะภาพทั้งหมดล้างอัดด้วยมือบนกระดาษอย่างดีใส่กรอบไม้สวยงามให้ท่านสะสมเป็นของที่ระลึก ซึ่งจะเพิ่มค่าเมื่อเวลาผ่านไป




รายละเอียดเพิ่มเติม

โทร. 080 5501295 หรือ 081 9859691

Email: people-space@yahoo.com หรือ ps.peoplespace@yahoo.com


Thursday, May 21, 2009

Monday, May 11, 2009

คิดถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คิดถึงสวรรค์แห่งชีวิต